===Not Click=== ===Not Click===

ตำหนิรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์ขี้ตา

รูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์ขี้ตา

 

ข้อแนะนำในการศึกษา

  • รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา นี้มีแม่พิมพ์หรือ"บล๊อก"เป็นตัวกำหนด เป็นจุดพิจารณาในรายละเอียดที่สามารถบ่งบอกถึงพิมพ์พระได้
  • รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา นี้มีเพียงเนื้อโลหะผสม "เหลืองปนขาว"เท่านั้น ไม่มีเนื้ออื่นๆ(ยกเว้นเนื้อดิน)
  • รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา นี้เป็นพระที่เทหล่อแบบดินไทย คราวละองค์ไม่มีช่อชนวนใต้ฐาน
  • รูปหล่อหลวงพ่อเงิน  พิมพ์ขี้ตานี้เมื่อผ่านขั้นตอนการเทหล่อ เก็บตะไบแล้ว ไม่มีการแต่ง เติมใดๆบนองค์พระอีก


แม่พิมพ์ หรือ "บล๊อก"ของรูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา มีด้วยกันถึง 4 แม่พิมพ์คือ

  1. พิมพ์ 3 ชาย
  2. พิมพ์4 ชายเล็ก
  3. พิมพ์ 4ชายใหญ่ และ
  4. พิมพ์ 5ชาย

เกี่ยวกับแม่พิมพ์

ในการจัดสร้างแม่พิมพ์นั้น ช่างจะขึ้นหุ่นขี้ผึ้งเป็นรูปต้นแบบ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว จึงนำหุ่นขี้ผึ้งต้นแบบไปเทหล่อด้วยเนื้อตะกั่ว และนำมาตบแต่งเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง หลังจากนั้นช่างจะพิจารณาถึงจำนวนพระที่จะสร้าง ถ้ามีจำนวนมาก ก็ต้องนำหุ่น"ต้นแบบ"ที่เป็นตะกั่วนั้นมาทำการ"ถอด"พิมพ์พระ ให้ได้แม่พิมพ์ที่เพียงพอกับพระที่จะจัดสร้าง


ในการ"ถอดพิมพ์"นั้น โดยมากจะใช้วัสดุเป็น"ปูน"สำหรับทำพิมพ์พระมาทำ"แม่พิมพ์" และในการ"ถอดพิมพ์"นั้นรายละเอียดในแม่พิมพ์ที่ถอดมา บางส่วนอาจขาดความชัดเจน ไม่ลึก คม ช่างจึงต้องทำการแต่ง"แม่พิมพ์"เพิ่มเติมในบางจุด จึงทำให้พิมพ์พระที่"ถอด"มานั้นเกิดความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ยังคงมีบางจุด ที่บ่งบอกได้ว่าเป็น"แม่พิมพ์"ที่ถอดมาจาก"ต้นแบบ"องค์เดียวกัน


แม่พิมพ์พระที่ได้จากการถอดพิมพ์นั้น มีด้วยกัน 4แม่พิมพ์ มีขนาดเล็ก-ใหญ่ ไม่เท่ากัน เพราะเกิดจากการ"ถอด"และ"ถอน"พิมพ์พระจากองค์ต้นแบบ โดยแม่พิมพ์พระ 3 ชายจะมีขนาดที่เล็กที่สุด และค่อยไล่เลียงไปขนาด4ชายเล็ก-ขนาด4ชายใหญ่และขนาด5ชายซึ่งมีขนาดที่ใหญ่ที่สุด
ในแต่ก่อน นักนิยมพระรุ่นเก่ามักบอกว่า รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตานั้นมีขนาด"หนึ่งบาท"บ้าง"หกสลึง"บ้างก็เพราะขนาดของแม่พิมพ์นั่นเองที่เป็นตัวกำหนด


ขั้นตอนการสร้าง เมื่อได้แม่พิมพ์พระแล้ว-ถอดหุ่นเทียน-ทาน้ำขี้วัว-เข้าดิน-รัดลวด-สำรอกขี้ผึ้ง-เทหล่อโลหะ-ทุบเบ้าดินออก-ล้างและแต่งตะไบเก็บงานเป็นอันเสร็จขั้นตอนในการสร้างพระ
อนึ่ง รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตานั้นเมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วไม่พบว่ามีการแต่งเพิ่มเติมความสวยงามบนองค์พระแต่อย่างใด

จุดพิจารณาและการแยกพิมพ์พระ

1.พิมพ์ขี้ตา 3 ชาย
ด้านหน้า ริ้วจีวรด้านขวามือองค์พระ จะเฉียงเป็นเส้นตรง ส่วนด้านซ้ายมือองค์พระจะสังเกตุเห็นริ้วจีวร 3เส้น นูน


2.พิมพ์ขี้ตา 4ชายเล็ก
ด้านหน้า ริ้วจีวรด้านขวามือองค์พระจะลาดเอียงเล็กน้อย(ไม่เหมือนพิมพ์3ชายที่เป็นเส้นเฉียงลงมา)ส่วนริ้วจีวรด้านซ้ายมือ จะสังเกตุเห็นเส้นจีวรเป็นเส้นนูน4เส้นไล่ลงมาจากขอบสังฆาฏิบนสุดจนถึงข้อแขนด้านล่าง


3.พิมพ์ขี้ตา4ชายใหญ่
ด้านหน้า ริ้วจีวรด้านขวามือองค์พระมี4เส้นจะลาดเอียงไปตามวงแขนขวาขององค์พระมากกว่าพิมพ์4ชายเล็ก ส่วนริ้วจีวรด้านซ้ายมีถึง5เส้น(ในองค์ที่เทติดชัด)


4.พิมพ์ขี้ตา5ชาย
ด้านหน้า ริ้วจีวรด้านขวามือจะมี5เส้น โดยเส้นที่2และ3จะซ้อนกัน(นับจากบนลงล่าง) ส่วนริ้วจีวรด้านซ้ายมือมีแค่ 3เส้นนูนเฉียงลงมาตามแขนซ้าย
ด้านข้าง ปรากฏรอยตะเข็บข้างทั้งสองข้าง(รอยประกบพิมพ์) ใต้ฐาน อาจเป็นแอ่งเล็กน้อย หรือเป็นหลุมขนาดเล็กๆ รอยเดือดของโลหะ(ที่นักนิยมพระเรียกว่า เม็ดสาคู)บางองค์อาจเทจนเต็มและปรากฏรอยตะไบปาดแต่งเรียบ 


ทั้งหมดนี้คือ รายละเอียดในการสร้างและจุดพิจารณารูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา แต่ไม่ใช่สิ่งชี้ขาดว่าถ้ามีรายละเอียดตามที่กล่าวมาจะต้องเป็นพระแท้ เพราะพระปลอมฝีมือก็นำพระแท้ ที่รายละเอียดชัดเจนนำไปถอดพิมพ์สร้าง ฉะนั้นในจุดพิจารณาต่างๆของ"เลียนแบบ"ที่ฝีมือก็มีให้เหมือนพระแท้ครับ แต่ความแตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับ"กระบวนการผลิต"เพราะพระงานฝีมือนั่นโดยมากใช้"หล่อแบบปูนวิทยาศาสตร์"ซึ่งแตกต่างจากพระแท้ ที่เทหล่อแบบ"ดินไทย" ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้ คงต้องใช้การเรียนรู้ศึกษาที่ต้องใช้เวลาและการสังเกตุเป็นตัวช่วย